Daily Archives: July 8, 2014

สตาร์บัคส์ชวนใช้ถ้วยพลาสติก

 สตาร์บัคส์เดินหน้าแคมเปญเพื่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดการใช้ทรัพยากร รณรงค์การใช้ถ้วยกาแฟพลาสติกแบบนำกลับมาใช้ได้อีกโดยจัดประกวดการออกแบบลวดลายถ้วยกาแฟชิงรางวัล จากนั้นจะสั่งผลิตดีไซน์ที่ชนะเพื่อนำมาใช้จริงภายในร้านสตาร์บัคส์เริ่มตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

altผลงานการประกวดที่ได้รางวัลอันดับ 1 เป็นถ้วยกาแฟสีขาวดำ สตาร์บัคส์ เชนร้านกาแฟสัญชาติอเมริกัน เปิดเผยว่า บริษัทกำลังจะเปิดตัวถ้วยกาแฟพลาสติกดีไซน์ใหม่ที่เป็นถ้วยกาแฟรุ่นพิเศษสั่งผลิตในจำนวนจำกัด (ลิมิเต็ด อิดิชัน) ภายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ หรือประมาณช่วงไตรมาส 3โดยถ้วยกาแฟพลาสติกดังกล่าวเป็นถ้วยชนิดที่สามารถใช้ซ้ำได้ประมาณ 30 ครั้ง แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะมองดูคล้ายถ้วยกาแฟกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ถ้วยพลาสติกนี้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ซ้ำอีกหลายครั้ง จึงเป็นการลดปริมาณขยะและประหยัดการใช้ทรัพยากร

ในส่วนของการออกแบบถ้วยดังกล่าว สตาร์บัคส์จัดให้มีการประกวด Starbucks White Cup Contest เปิดโอกาสให้ผู้สนใจ ออกแบบลวดลายต่างๆ ลงบนถ้วยพลาสติกสีขาวๆ อย่างไรก็ตามการประกวดครั้งนี้ มีขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้นและเปิดรับสมัครผลงานประกวดมาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน-12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดถึงเกือบๆ 4 พันชิ้นภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ผู้ที่ชนะการประกวดรางวัลที่ 1 คือ บริตา ลินน์ ทอมสัน นักศึกษาจากเมืองพิตส์เบิร์ก อายุ 20 ปี ผลงานของเธอเป็นถ้วยกาแฟลวดลายสีดำบนพื้นขาว ทั้งนี้ การประกวดเปิดกว้างสำหรับทุกๆดีไซน์และสีสัน ภายใต้โจทย์ที่ว่า ต้องมีโลโกสีเขียวของสตาร์บัคส์อยู่ในดีไซน์นั้นๆด้วย บางผลงานก็มีลวดลายหลากสีสัน บางผลงานก็มีเพียงสีเดียว บ้างก็มีเพียงลายเส้น แต่ทั้งหมดล้วนเป็นผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้ออกแบบ  บริษัทได้คัดสรรผลงานที่มีความโดดเด่นที่สุดกว่า 300 ชิ้น ไปจัดแสดงไว้บนเว็บไซต์ Pinterest เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าไปชมผลงาน
altส่วนหนึ่งของผลงานที่มีผู้ส่งเข้าประกวดในการแข่งขัน Starbucks White Cup Contest    ไรอัน เทอร์เนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายโซเชียลมีเดียของสตาร์บัคส์ ให้ความเห็นว่า ดีไซน์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นผลงานการออกแบบที่น่าทึ่งอย่างมาก มีความโดดเด่นชัดเจน และแสดงออกถึงฝีมือซึ่งเป็นการวาดด้วยมือ แตกต่างไปจากทุกดีไซน์ที่เคยมีมา “มีผลงานส่งเข้ามาประกวดหลายพันชิ้น เป็นปริมาณที่มากมายเกินคาดและหลากหลายทั้งในแง่ลวดลายและความคิดสร้างสรรค์” ผู้บริหารของสตาร์บัคส์กล่าว

สำหรับเป้าหมายนั้น สตาร์บัคส์ต้องการสร้างสรรค์ถ้วยกาแฟที่นำมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ลวดลายที่สวยงามจะทำให้มันดูดึงดูดใจ มีคุณค่า น่าเก็บไว้ใช้อีกบ่อยครั้ง บริษัทนำถ้วยกาแฟพลาสติกแบบใช้ซ้ำได้อีกนี้มาเริ่มใช้ครั้งแรกในเดือนมกราคม 2556 เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนการใช้ถ้วยกาแฟกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งจะค่อยๆลดปริมาณการใช้ลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,961

วันที่ 29  มิถุนายน – 2 กรกฎาคม  พ.ศ. 2557

ไทยได้ประโยชน์จาก FTA อาเซียนทะลุ 8 หมื่นล้าน

เครื่องไฟฟ้า

สศอ. เผยประเทศไทยได้ประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA ปี 56 รวมกว่า 1 แสนล้านบาท โดยกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดกว่า 8 หมื่นล้านบาท พร้อมแนะยังมีช่องทางที่จะได้รับประโยชน์ในด้านภาษีได้เพิ่มอีกเท่าตัว

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในปี 2556 ที่ผ่านมา ภาคส่งออกไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA รวมมูลค่าภาษีที่ประหยัดได้ถึง 135,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 25,013 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดถึง 83,720 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่สามารถประหยัดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA มากที่สุดยังคงเป็นสินค้ากลุ่มยานยนต์ 39,569 ล้านบาท กลุ่มอาหาร 18,327 ล้านบาท และกลุ่มพลาสติก 11,291 ล้านบาท

ขณะเดียวกันภาคนำเข้าได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA คิดเป็นมูลค่า 91,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 225 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากกลุ่มอาเซียนและจีน โดยสามารถประหยัดภาษีได้สูงสุดถึง 39,383 ล้านบาท และ 33,908 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งสินค้านำเข้าที่สามารถประหยัดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA มากที่สุดได้แก่ กลุ่มอาหาร 12,052 ล้านบาท กลุ่มสินค้าเกษตร 10,135 ล้านบาท และกลุ่มยานยนต์ 9,320 ล้านบาท

“หากมองในภาพรวมจะเห็นว่า แม้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าที่ค้าขายกับประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้รับประโยชน์ในระดับสูง อย่างไรก็ดียังคงพบว่าผู้ประกอบการยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ในภาพรวมได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้หากสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไทยจะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นได้อีก 116,934 ล้านบาท และ 41,015 ล้านบาท ตามลำดับ” ดร.สมชายกล่าว

ดร.สมชายกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาสศอ. และทีดีอาร์ไอได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการระบุประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งพบว่าปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว ได้แก่ ลูกค้า (ผู้นำเข้าในประเทศคู่ค้า) ไม่ได้ขอใบ Certificate of origin (c/o) มา ปัญหาจากกระบวนการเอกสารขอใช้สิทธิ์ยุ่งยากและซับซ้อน และการตีความพิกัดสินค้าไม่ตรงกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามทาง สศอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในด้านการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA และได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินโครงการติดตามการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ฉบับต่างๆที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ หลายประเทศ อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น

อนึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือได้อย่างเสรี และเงินทุนได้เสรียิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกไทยต้องให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ของไทยกับประเทศคู่ค้าซึ่งจะช่วยได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีเพิ่มมากขึ้น
- คอลัมน์ : AEC News / THAN AEC

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ AEC world
ประจำวันที่ 15-18 มิถุนายน 2557